ประวัติสนามบิน

สนามบินสมุย (สนามบินเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย)
สนามบินพาณิชย์มาตราฐาน เปิดทำการบินเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2532 ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 600 ไร่ (ในปัจจุบัน) ณ ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2527 พื้นที่เดิมเป็นสวนมะพร้าว ซึ่งบริษัทฯ ได้รับความเห็นชอบจากกรมการบินพาณิชย์ว่าเป็นพื้นทีที่เหมาะสมสำหรับเป็นที่ตั้งของสนามบิน เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่เพียงพอกับการสร้างสนามบิน

สนามบินสมุยได้รับอนุญาตให้เป็น สนามบินศุลกากร ตั้งแต่เดือน 25 กันยายน 2539 ประกอบกิจการเดินอากาศแบบประจำมีกำหนดต่างประเทศ ภายในอาคารผู้โดยสารต่างประเทศ ประกอบด้วย ด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร ด่านกักกันสัตว์ ด่านควบคุมโรคติดต่อ และมีบริการตรวจลงประทับตราประเภทท่องเที่ยว (วีซ่า) รวมไปถึง บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT REFUNDS) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

สนามบินสมุยได้รับการออกแบบและก่อสร้างต่างๆ โดยคำนึงถึงสภาพสิ่งแวดล้อมของเกาะสมุยเป็นหลัก เน้นการออกแบบให้กลมกลืนกับธรรมชาติแวดล้อม สร้างด้วยวัสดุที่เป็นไม้ต้นมะพร้าว ลักษณะอาคารเปิดโล่ง เพื่อให้บรรยากาศเป็นธรรมชาติในรูปแบบของเกาะสมุยมากที่สุด ทางวิ่งสนามบินสมุย สามารถรองรับน้ำหนักอากาศยานได้ถึง 70 ตัน มีทางวิ่งยาว 2,100 เมตร กว้าง 45 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินโดยสารไอพ่นขนาดเล็กได้ เช่น Airbus A319 และ Boeing 737 โดยใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพเพียง 50 นาทีเท่านั้น


ต่อมาสนามบินสมุยได้ทำการขยายอาคารผู้โดยสาร โดยอาคารผู้โดยสารใหม่ ซึ่งเป็นอาคารที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 7,300 ตารางเมตร โดยประกอบไปด้วยอาคารผู้โดยสาร 6 อาคารแบ่งเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ 4 อาคาร และอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ 2 อาคาร และสามารถรองรับผู้โดยสารได้วันละประมาณ 16,000 คนต่อวัน หรือ 6,000,000 คนต่อปี



สนามบินสมุย นับเป็นสนามบินเเห่งเเรกของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินท์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยได้รับการรับรองในปี 2559 และ 2560 โดยในปี 2560 ยังมีอีก 4 พื้นที่ ที่ผ่านการรับรองข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินท์ขององค์กร ได้แก่ สนามบินสุโขทัย สนามบินตราด ส่วนกลาง* และโรงซ่อมอากาศยานของบริษัท ฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นการแสดงศักยภาพการมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนในอนาคต

Powered by MakeWebEasy.com